จังหวัดนครปฐม รับมอบผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม “ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี”

วันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รับมอบผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม “ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี” จากนางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล ประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด พร้อมคณะ โดยส่งมอบผ้าต้นแบบ ทอลายมัดหมี่ จำนวน ๒ ผื่น และทอลายจก จำนวน ๒ ผื่น ให้แก่จังหวัดนครปฐม เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้สวมใส่ผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสืบสาน รักษา พัฒนา ต่อยอด ตลอดจนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทอผ้าและชุมชนในจังหวัดนครปฐมต่อไป
โดย นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 รับทราบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยสามารถจำหน่ายและแข่งชันในตลาดได้อย่างยั่งยืน สำหรับจังหวัดนครปฐมรณรงค์ให้ข้าราชการ บุคลากร ในหน่วยงานสวมผ้าไทยทุกวันพุธและวันศุกร์ ยกเว้นในวันที่มีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 ลาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ตลอดจนส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย
จังหวัดนครปฐมดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครปฐม” เพื่อระดมความคิดเห็น ค้นหาและพัฒนาผ้าที่สามารถนำมาเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม และเพื่อประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติคัดเลือกลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี) หมายถึงจังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณ ธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 จังหวัดนครปฐมมีประกาศให้ ลาย “ปูรณะฏาศรีทวารวดี” เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม เพื่อให้ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับผลิตผ้าตันแบบ เป็นเงินจำนวน 28,500.- บาท โดยใช้เทคนิคการผลิต จำนวน 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 เทคนิคการมัดหมี่ ผ้าฝ้ายพื้นสีคราม ลายสีขาว ขนาด 90 x 200 เซนติเมตร โดยนายกมนพรรธน์ บ่อแก้ว ผู้นำกลุ่มผ้าทอมือศรีอุทุมพร
แบบที่ 2 เทคนิคการจก ผ้าฝ้ายพื้นสีฟ้าจกด้วยไหม ขนาด 35 x 90เซนติเมตร โดยนายวรุฒม์ มั่นพรม ผู้นำกลุ่มวงเตือน ผ้าจกไท-ยวน