สถาบันพระปกเกล้า โดย นักศึกษา ปนป.12 กลุ่มช้าง ร่วมกับ กทม. สสส. สานพลังภาคีกว่า 100 องค์กร แสดงพลังแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านเครือข่าย Bkk Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการกล่าวเปิดงานและกล่าวขอบคุณภาคีทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง
วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) กทม. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) แผนงานคนไทย 4.0 สถาบันพระปกเกล้า คณะนักศึกษา ปนป.12 กลุ่มช้าง และสมาคมโรงแรมไทย จัดกิจกรรม BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กรที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง และส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะ และคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยนับเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการร้องเรียนของประชาชนจากการจัดการขยะมูลฝอยอยู่เสมอ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยขยะมูลฝอยก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก/สารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน/แหล่งน้ำ และเกิดก๊าซมีเทนจากบ่อฝังกลบขยะที่เป็นก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 กรุงเทพมหานครสร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ
“สสส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบการคัดแยกขยะ การต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ดร.สุปรีดา กล่าวเสริม
รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ มีความยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดการขยะที่ต้นทางให้กับกรุงเทพมหานครผ่านการสนับสนุนของสสส.ในการดำเนินโครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน: เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบการเก็บขยะแบบแยกประเภทร่วมกับสำนักงานเขต ระบบฐานข้อมูลกลาง (3 เขตนำร่อง) การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิด อาทิ โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน กว่า 84 องค์กรในเขตปทุมวันและเขตหนองแขมมีการ
ลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะ นอกจากนี้ โครงการยังได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าวและบริษัทเจเนซิส เอ๊กซ์ พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly: BSF) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม คาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ดำเนินโครงการลดขยะที่ต้นทางมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดภาระในการจัดการขยะที่ปลายทางของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน